การชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2560
ประเภท : ข่าวภาษี
การชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่
- ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
- ภาษีป้าย
- ภาษีบำรุงท้องที่
เทศบาลตำบลบ้านลาด ขอเชิญชวนผู้มีหน้าที่ต้องชำระภาษี ในเขตเทศบาลตำบลบ้านลาด
ติดต่อยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อชำระภาษี
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน ยื่นแบบแสดงรายการ ตั้งแต่ 4 มกราคม - 28 กุมภาพันธ์ พ.ศ.2560
ภาษีป้าย ยื่นแบบแสดงรายการ ตั้งแต่ 4 มกราคม - 31 มีนาคม พ.ศ.2560
ภาษีบำรุงท้องที่ ยื่นแบบแสดงรายการ ตั้งแต่ 4 มกราคม - 30 เมษายน พ.ศ.2560
เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ ในเขตเทศบาลตำบลบ้านลาด จึงขอให้ผู้มีทรัพย์สิน อันเข้าข่ายเสียภาษี ตามกฎหมาย ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีประจำปี 2560 ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย
หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ กองคลัง โทร./ โทรสาร : 0-3249-2366-8 ต่อ 101
เงินภาษีที่เก็บได้ นำมาใช้พัฒนาตำบลเรา
ภาษีบำรุงท้องที่
กำหนดระยะเวลายื่นแบบ และชำระภาษี เดือนมกราคม – เมษายน ของทุกปี
ภาษีบำรุงท้องที่ หมายถึง ภาษีที่เก็บจากเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือ นิติบุคคล ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยเจ้าของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ อยู่ในเขต เทศบาลตำบลบ้านลาด ให้ไปยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (แบบ ภบท.5) ณ งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนมกราคม ปีแรกที่มีการตีราคา ปานกลางที่ดิน และทุกๆ 4 ปี จะมีการยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน และประเมินใหม่ และชำระภาษีภายใน เดือน มกราคม – เมษายน ของทุกปี
กรณีเป็นเจ้าของที่ดินรายใหม่ หรือ มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดินจะต้องยื่นแบบ แสดงรายการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง
1.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่
ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปีนั้น และตลอดไปจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงเจ้าของที่ดิน
1.2 กำหนดระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่
ให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภบท.5) ณ งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนมกราคม ของปีแรก ที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดิน แบบแสดงรายการที่ได้ยื่นไว้นั้นใช้ได้ทุกปีในรอบระยะเวลา 4 ปี นั้น
1.3 หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่
1.3.1. บัตรประจำตัวประชาชน
1.3.2. ใบเสร็จรับเงินปีที่ผ่านมา (ในกรณีที่ได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาแล้ว)
1.3.3. สำเนาทะเบียนบ้าน
1.3.4 หลักฐานที่แสดงถึงการเป็นเจ้าของที่ดิน ตามกฎหมายกำหนดเช่น โฉนด,น.ส.3.,ส.ค.1ฯ
1.3.5. หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนบริษัทฯ
1.3.6. หนังสือมอบอำนาจกรณีที่ให้ผู้อื่นมาทำการแทน
กรณีที่เป็นการเสียภาษีในปีที่ไม่ใช่ปีที่ยื่นแบบ ภบท.5 ส่วนที่มอบให้เจ้าของที่ดินหรือใบเสร็จรับเงินค่าภาษีปีสุดท้ายให้นำมาด้วย
1.4 ขั้นตอนการชำระภาษีบำรุงท้องที่
1.4.1. การยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน กรณีผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดิน
1.4.1.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของที่ดินยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภบท.5) พร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องใช้ต่อเจ้าหน้าที่พนักงานประเมิน ภายในเดือนมกราคมของปีที่มีการประเมินราคาปานกลาง ของที่ดิน
1.4.1.2 เจ้าพนักงานประเมินจะทำการตรวจสอบและคำนวณค่าภาษีแล้วแจ้งการประเมิน (ภบท.9 หรือ ภบท.10) ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของที่ดินทราบว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าใดภายในเดือนมีนาคม
1.4.1.3 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี เว้นแต่กรณีที่ได้รับใบแจ้งใบประเมินหลัง เดือนมีนาคม ต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน
1.4.2. การยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน กรณีเป็นเจ้าของที่ดินรายใหม่หรือจำนวนเนื้อที่ดินเดิมเปลี่ยนแปลงไป
1.4.2.1 เจ้าของที่ดินที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเนื้อที่ดินหรือเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินขึ้นใหม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินหรือยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดินต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับโอนหรือมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้แบบ ภบท.5 หรือ ภบท.8 แล้วแต่กรณี
1.4.2.2 เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแล้ว จะออกใบรับไว้ให้เป็นหลักฐาน
1.4.2.3 เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบถึงจำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษี ในปีต่อไปจำนวนเท่าใด
1.4.3. การยื่นแบบแสดงรายการที่ดินกรณีเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอันเป็นเหตุให้ การลดหย่อนเปลี่ยนแปลงไปหรือมีเหตุอย่างอื่นทำให้อัตราภาษีบำรุงท้องที่เปลี่ยนแปลงไป
1.4.3.1 เจ้าของที่ดินยื่นคำร้องตามแบบ ภบท.8 พร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องใช้ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน
1.4.3.2 เจ้าพนักงานประเมินจะออกใบรับให้
1.4.3.3 เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบว่าจะต้องเสียภาษีในปีต่อไปจำนวนเท่าใด
1.4.3.4 การขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ในปีถัดไปจากปีที่มีการประเมินราคาปานกลางของที่ดินให้ผู้รับประเมินนำใบเสร็จรับเงินของปีก่อนพร้อมกับเงินไปชำระภายใน เดือนเมษายนของทุกปี
1.5 เงินเพิ่ม
เจ้าของที่ดินผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ต้องเสียเงินเพิ่มในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้
1.5.1 ไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายในกำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของค่าภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่ กรณีเจ้าของที่ดินได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ก่อนที่เจ้าพนักงานประเมิน จะได้แจ้งให้ทราบ ถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของค่าภาษีบำรุงท้องที่
1.5.2 ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10 ของค่าภาษีบำรุงท้องที่ที่ประเมินเพิ่มเติม เว้นแต่กรณีที่ เจ้าของที่ดินได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการที่ดินให้ถูกต้องก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน
1.5.3 ชี้เขตแจ้งจำนวนที่ดินไม่ถูกต้องต่อเจ้าพนักงานสำรวจ โดยทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสีย ภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลงให้เสียภาษีเงินเพิ่มอีก 1 เท่า ของภาษีบำรุงท้องที่ประเมินเพิ่มเติม
1.5.4 ไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 24 ต่อปี หรือ ร้อยละ 2 ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน และไม่นำเงินเพิ่มเติมตาม ข้อ 1 – ข้อ 4 มารวมคำนวณด้วย
1.6 บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่
1.6.1 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีบำรุงท้องที่ ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
1.6.2 ผู้ใดจงใจไม่มาหรือยอมชี้เขต หรือไม่ยอมแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
1.6.3 ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งให้มาให้ถ้อยคำหรือส่งบัญชีหรือเอกสาร มาตรวจสอบ หรือสั่งให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระหรือไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งเอกสารอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามหนังสือเรียก ต้องระวางโทษ จำคุกไม่เกิน 1 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
1.7 การอุทธรณ์
1.7.1 ถ้าเจ้าของที่ดินไม่เห็นพ้องด้วยกับราคาปานกลางที่ดิน หรือไม่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่แล้ว เห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องมีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ โดยอุทธรณ์ผ่านเจ้าพนักงานประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศราคาปานกลางของที่ดิน หรือ วันที่ได้รับแจ้งประเมินแล้วแต่กรณี
1.7.2 การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ขอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาล
1.7.3 ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งวินิจฉัยอุทธรณ์
1.8 การขอคืนภาษีบำรุงท้องที่
ผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรจะต้องเสียผู้นั้น มีสิทธิขอรับคืนภายใน 1 ปี ได้โดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีบำรุงท้องที่
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
กำหนดระยะเวลาในการยื่นแบบชำระภาษี เดือน มกราคม–กุมภาพันธ์ ของทุกปี
ภาษีโรงเรือนและที่ดิน หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ กับที่ดินใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น
2.1 ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ตึก อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ฯลฯ ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลบ้านลาด ซึ่งหาผลประโยชน์ โดยใช้เป็นสถานประกอบการพาณิชย์ต่างๆ ให้เช่าหรือให้ผู้อื่นอยู่อาศัย หรือแสวงหารายได้ ซึ่งอยู่ในข่ายต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินกับเทศบาลตำบลบ้านลาด
2.2 กำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน
เจ้าของทรัพย์สินยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2) ณ งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
2.3 หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง
2.3.1 สำเนาโฉนดที่ดิน /น.ส.3 / น.ส.3.ก /ส.ค.1 หรือเอกสารสิทธิ์อื่นๆ
2.3.2 บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีหน้าที่เสียภาษี
2.3.3 สำเนาทะเบียนบ้าน
2.3.4 ทะเบียนการค้า, ทะเบียนพาณิชย์, ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร
2.3.5 ใบเสร็จรับเงินของปีที่ล่วงมาแล้ว
2.3.6 หนังสือมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นทำการแทน
2.3.7 แผนที่ตั้งของโรงเรือนและที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เสียภาษี
2.4 ขั้นตอนการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน
2.4.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ต้องยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษี โรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2) พร้อมด้วยหลักฐาน ณ งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี
2.4.2 พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของแบบแสดงรายการภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2)
2.4.3 เจ้าหน้าที่ประเมิน ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีที่ต้องเสีย
2.4.4 พนักงานเก็บภาษีแจ้งการประเมิน (ภรด.8) ให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีทราบว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าใด
2.4.5 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้วจะต้องนำเงินค่าภาษีไปชำระ ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน มิฉะนั้นต้องเสียเงินเพิ่ม
2.5 อัตราค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน
2.5.1 ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปี
2.5.2 อัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี
2.6 เงินเพิ่มภาษีโรงเรือนและที่ดิน
ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้ว (ภ.ร.ด.8) จะต้องนำเงินค่าภาษีไปชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากที่ได้รับแจ้งประเมิน หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำเงินมาชำระเกินกว่า 30 วัน จะต้องเสียเงินเพิ่ม ดังนี้
- ชำระไม่เกิน 1 เดือน นับแต่วันพ้นกำหนดให้เสียเงินเพิ่มร้อยล่ะ 2.5 ของค่าภาษีค้าง
- ชำระเกิน 1 เดือน แต่ไม่เกิน 2 เดือน ให้เสียเงินเพิ่มร้อยล่ะ 5 ของค่าภาษีค้าง
- ชำระเกิน 2 เดือน แต่ไม่เกิน 3 เดือน ให้เสียเงินเพิ่มร้อยล่ะ 7. 5 ของค่าภาษีค้าง
- ชำระเกิน 3 เดือน แต่ไม่เกิน 4 เดือน ให้เสียเงินเพิ่มร้อยล่ะ 10 ของค่าภาษีค้าง
2.7 การชำระค่าปรับ
ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีต่อเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดต้องระวางโทษ ปรับไม่เกิน 200 บาท
2.8 บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน
2.8.1 ผู้ใดละเลยไม่แสดงข้อความในแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินตามความเป็นจริงตาม ความรู้เห็นของตนให้ครบถ้วน และรับรองความถูกต้องของข้อความดังกล่าว พร้อมทั้ง ลงวันที่ เดือน ปี และลายมือชื่อของตนกำกับไว้ เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท (สองร้อยบาทถ้วน)
2.8.2 ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่แจ้งรายการเพิ่มเติมรายละเอียด ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถาม หรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถามผู้รับประเมินในเรื่องใบแจ้งรายการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)
2.8.3 ผู้ใดยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยคำอันเป็นเท็จ หรือ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง เพื่อหลีกเลี่ยงหรือจัดหาทางให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตนตามที่ควรหรือโดยความเป็นเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงโดยอุบาย โดยวิธีการ อย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้นที่หลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตนตามที่ควรก็ดีต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
2.9 การอุทธรณ์ภาษีโรงเรือนและที่ดิน
เมื่อผู้เสียภาษีได้รับแจ้งการประเมินแล้ว ไม่พอใจในการประเมินภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเห็นว่าค่าภาษีสูงเกินไป หรือประเมินไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คณะผู้บริหารท้องถิ่นตามแบบที่กำหนด (ภรด.9) ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน และเมื่อได้รับแจ้งผลชี้ขาดแล้วยังไม่เป็นที่พอใจก็มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด
ภาษีป้าย
กำหนดระยะเวลาในการยื่นแบบชำระภาษีป้าย เดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี
ภาษีป้าย หมายถึง ป้ายที่แสดงชื่อยี่ห้อ หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า หรือ ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้ หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่น เพื่อหารายได้ไม่ว่าจะแสดง หรือ โฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น
3.1 ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย
3.1.1 เจ้าของป้าย
3.1.2 ในกรณีที่ไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย หรือ เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้เสียภาษีป้ายถ้าไม่อาจหาตัว ผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้าย
3.2 กำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีป้าย
3.2.1 ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้าย ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายได้ที่ ณ งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนมกราคม - มีนาคม ของทุกปี
3.2.2 ผู้ใดติดตั้งป้ายอันต้องเสียภาษีหลังเดือนมีนาคมหรือติดตั้งป้ายใหม่แทนป้ายเดิม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข
3.2.3 ในกรณีที่มีการโอนย้าย (เปลี่ยนเจ้าของ) ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลบ้านลาด ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันรับโอน
3.3 หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเพื่อเสียภาษีป้าย
3.3.1 บัตรประจำตัวประชาชน
3.3.2 ทะเบียนการค้า,ทะเบียนพาณิชย์
3.3.3 ใบเสร็จรับเงินปีที่ผ่านมา (ในกรณีที่ได้ชำระภาษีป้ายมาแล้ว)
3.3.4 สำเนาทะเบียนบ้าน
3.3.5 ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม
3.3.6 หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนบริษัท
3.3.7 ใบอนุญาตติดตั้งป้ายหรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย
3.4 ขั้นตอนการชำระภาษีป้าย
3.4.1 ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภป.1) พร้อมหลักฐาน
3.4.2 ผู้เสียภาษีต้องมาชำระเงินค่าภาษีป้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันได้แจ้งการประเมินมิฉะนั้นต้องเสียเงินเพิ่ม
3.5 อัตราภาษีป้าย
3.5.1 ป้ายอักษรไทยล้วน ให้คิดอัตรา 3 บาท : 500 ตารางเซนติเมตร
3.5.2 ป้ายอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพ หรือเครื่องหมายอื่น ให้คิด อัตรา 20 บาท : 500 ตารางเซนติเมตร
3.5.3 ป้ายต่อไปนี้ให้คิดอัตรา 40 บาท: 500 ตารางเซนติเมตร
3.5.3.1 ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพเครื่องหมายใดๆ หรือไม่
3.5.3.2 ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ
3.5.4 ป้ายตาม ข้อ 1,2,3 เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้วถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท
- กรณีป้ายที่ติดตั้งปีแรก คิดภาษีเป็นรายงวด งวดละ 3 เดือน
- งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน มกราคม - มีนาคม คิดภาษี 100 %
- งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน เมษายน - มิถุนายน คิดภาษี 75 %
- งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน กรกฎาคม - กันยายน คิดภาษี 50 %
- งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน ตุลาคม - ธันวาคม คิดภาษี 25 %
3.6 เงินเพิ่ม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายจะต้องเสียเงินเพิ่มในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้
3.6.1 ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่ม ร้อยละสิบของค่าภาษีป้ายเว้นแต่กรณีเจ้าของป้ายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ จะได้แจ้งให้ทราบ ถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของค่าภาษี
- ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้องต้องตามจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย ลดน้อยลงให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของค่าภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม เว้นแต่กรณีเจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน
- ไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือนของค่าภาษีป้ายเศษของเดือนนับเป็นหนึ่งเดือนทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตามข้อ 1 และ ข้อ 2 มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามข้อนี้ด้วย
3.7 บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย
3.7.1 ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ
- ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท
- ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายหรือไม่แสดงรายการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ประกอบกิจการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท
3.7.4 ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงาน-เจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งให้มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่วนบัญชีหรือเอกสารเกี่ยวกับป้ายมาตรวจสอบภายในกำหนดเวลา อันสมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ
3.8 การอุทธรณ์การประเมินภาษีป้าย
เมื่อผู้เสียภาษีได้แจ้งการประเมิน (ภป.3) แล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ได้รับมอบหมาย โดยต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่ที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้บริหารท้องถิ่นต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันรับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์
3.9 การขอคืนเงินภาษีป้าย
ผู้เสียภาษีป้ายโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือเสียเกินกว่าที่ควรจะต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิ ขอรับเงินคืนได้โดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีป้าย