การชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน ภาษีป้าย และภาษีบำรุงท้องที่ ปี 2560

 ประเภท : ข่าวภาษี

 

การชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน  ภาษีป้าย  และภาษีบำรุงท้องที่

-        ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

-        ภาษีป้าย

-        ภาษีบำรุงท้องที่

 

                      เทศบาลตำบลบ้านลาด  ขอเชิญชวนผู้มีหน้าที่ต้องชำระภาษี ในเขตเทศบาลตำบลบ้านลาด

ติดต่อยื่นแบบแสดงรายการ เพื่อชำระภาษี

 

 ภาษีโรงเรือนและที่ดิน   ยื่นแบบแสดงรายการ  ตั้งแต่  4  มกราคม    -    28  กุมภาพันธ์  พ.ศ.2560

  ภาษีป้าย                         ยื่นแบบแสดงรายการ  ตั้งแต่  4  มกราคม     -    31  มีนาคม   พ.ศ.2560

  ภาษีบำรุงท้องที่             ยื่นแบบแสดงรายการ  ตั้งแต่  4  มกราคม    -    30  เมษายน   พ.ศ.2560

 

                         เพื่อเป็นการพัฒนาพื้นที่ ในเขตเทศบาลตำบลบ้านลาด  จึงขอให้ผู้มีทรัพย์สิน อันเข้าข่ายเสียภาษี ตามกฎหมาย ได้ยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีประจำปี 2560  ตามกำหนดระยะเวลาดังกล่าว  หากพ้นกำหนดจะต้องเสียค่าปรับและเงินเพิ่มตามกฎหมาย

 

หากมีข้อสงสัยประการใด กรุณาติดต่อสอบถามได้ที่ กองคลัง  โทร./ โทรสาร : 0-3249-2366-8  ต่อ 101 

 

                  เงินภาษีที่เก็บได้  นำมาใช้พัฒนาตำบลเรา   

ภาษีบำรุงท้องที่

กำหนดระยะเวลายื่นแบบ  และชำระภาษี เดือนมกราคม – เมษายน ของทุกปี

                   ภาษีบำรุงท้องที่ หมายถึง ภาษีที่เก็บจากเจ้าของที่ดิน ไม่ว่าจะเป็นบุคคลธรรมดาหรือ       นิติบุคคล ซึ่งมีกรรมสิทธิ์ในที่ดิน การยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีบำรุงท้องที่โดยเจ้าของที่ดินที่มีกรรมสิทธิ์ อยู่ในเขต   เทศบาลตำบลบ้านลาด   ให้ไปยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน  (แบบ ภบท.5)   ณ  งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนมกราคม ปีแรกที่มีการตีราคา ปานกลางที่ดิน และทุกๆ 4 ปี จะมีการยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน และประเมินใหม่ และชำระภาษีภายใน  เดือน มกราคม – เมษายน ของทุกปี

                   กรณีเป็นเจ้าของที่ดินรายใหม่  หรือ  มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดินจะต้องยื่นแบบ     แสดงรายการภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลง

1.1  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่

                   ผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินในวันที่ 1 มกราคมของปีใด มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ในปีนั้น       และตลอดไปจนกว่าจะเปลี่ยนแปลงเจ้าของที่ดิน

1.2  กำหนดระยะเวลาการยื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่

                   ให้เจ้าของที่ดินซึ่งมีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภบท.5)              ณ  งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนมกราคม ของปีแรก  ที่มีการตีราคาปานกลางของที่ดิน   แบบแสดงรายการที่ได้ยื่นไว้นั้นใช้ได้ทุกปีในรอบระยะเวลา  4 ปี นั้น

1.3  หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเพื่อชำระภาษีบำรุงท้องที่

                   1.3.1.  บัตรประจำตัวประชาชน

                   1.3.2.  ใบเสร็จรับเงินปีที่ผ่านมา (ในกรณีที่ได้ชำระภาษีบำรุงท้องที่มาแล้ว)

                   1.3.3.  สำเนาทะเบียนบ้าน

                   1.3.4  หลักฐานที่แสดงถึงการเป็นเจ้าของที่ดิน ตามกฎหมายกำหนดเช่น โฉนด,น.ส.3.,ส.ค.1ฯ

                   1.3.5.  หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนบริษัทฯ

                   1.3.6.  หนังสือมอบอำนาจกรณีที่ให้ผู้อื่นมาทำการแทน

                   กรณีที่เป็นการเสียภาษีในปีที่ไม่ใช่ปีที่ยื่นแบบ ภบท.5 ส่วนที่มอบให้เจ้าของที่ดินหรือใบเสร็จรับเงินค่าภาษีปีสุดท้ายให้นำมาด้วย

1.4  ขั้นตอนการชำระภาษีบำรุงท้องที่

          1.4.1.  การยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน กรณีผู้ที่เป็นเจ้าของที่ดินตั้งแต่วันที่ 1 มกราคมของปีที่มีการตีราคาปานกลางที่ดิน

          1.4.1.1  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของที่ดินยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน (ภบท.5) พร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องใช้ต่อเจ้าหน้าที่พนักงานประเมิน  ภายในเดือนมกราคมของปีที่มีการประเมินราคาปานกลาง  ของที่ดิน

1.4.1.2  เจ้าพนักงานประเมินจะทำการตรวจสอบและคำนวณค่าภาษีแล้วแจ้งการประเมิน (ภบท.9 หรือ ภบท.10)  ให้ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของที่ดินทราบว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าใดภายในเดือนมีนาคม

          1.4.1.3  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีหรือเจ้าของที่ดินจะต้องเสียภาษีภายในเดือนเมษายนของทุกปี เว้นแต่กรณีที่ได้รับใบแจ้งใบประเมินหลัง เดือนมีนาคม ต้องชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน

1.4.2.  การยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน กรณีเป็นเจ้าของที่ดินรายใหม่หรือจำนวนเนื้อที่ดินเดิมเปลี่ยนแปลงไป

1.4.2.1  เจ้าของที่ดินที่ได้มีการเปลี่ยนแปลงจำนวนเนื้อที่ดินหรือเป็นผู้ได้รับโอนที่ดินขึ้นใหม่ต้องยื่นแบบแสดงรายการที่ดินหรือยื่นคำร้องขอเปลี่ยนแปลงจำนวนที่ดินต่อเจ้าพนักงานประเมินภายในกำหนด 30 วัน นับแต่วันได้รับโอนหรือมีการเปลี่ยนแปลงโดยให้แบบ ภบท.5 หรือ ภบท.8 แล้วแต่กรณี

                   1.4.2.2  เมื่อเจ้าหน้าที่ได้รับแบบแล้ว จะออกใบรับไว้ให้เป็นหลักฐาน

          1.4.2.3  เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบถึงจำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษี ในปีต่อไปจำนวนเท่าใด

1.4.3.  การยื่นแบบแสดงรายการที่ดินกรณีเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดินอันเป็นเหตุให้  การลดหย่อนเปลี่ยนแปลงไปหรือมีเหตุอย่างอื่นทำให้อัตราภาษีบำรุงท้องที่เปลี่ยนแปลงไป

          1.4.3.1  เจ้าของที่ดินยื่นคำร้องตามแบบ ภบท.8 พร้อมด้วยหลักฐานที่ต้องใช้ต่อเจ้าพนักงานประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่มีการเปลี่ยนแปลงการใช้ที่ดิน

                    1.4.3.2  เจ้าพนักงานประเมินจะออกใบรับให้

1.4.3.3  เจ้าพนักงานประเมินจะแจ้งให้เจ้าของที่ดินทราบว่าจะต้องเสียภาษีในปีต่อไปจำนวนเท่าใด

1.4.3.4  การขอชำระภาษีบำรุงท้องที่ในปีถัดไปจากปีที่มีการประเมินราคาปานกลางของที่ดินให้ผู้รับประเมินนำใบเสร็จรับเงินของปีก่อนพร้อมกับเงินไปชำระภายใน เดือนเมษายนของทุกปี

1.5  เงินเพิ่ม      

          เจ้าของที่ดินผู้มีหน้าที่เสียภาษีบำรุงท้องที่ต้องเสียเงินเพิ่มในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้

          1.5.1  ไม่ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินภายในกำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10  ของค่าภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่ กรณีเจ้าของที่ดินได้ยื่นแบบแสดงรายการที่ดิน ก่อนที่เจ้าพนักงานประเมิน จะได้แจ้งให้ทราบ ถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 5 ของค่าภาษีบำรุงท้องที่

1.5.2  ยื่นแบบแสดงรายการที่ดินโดยไม่ถูกต้องทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลง ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 10  ของค่าภาษีบำรุงท้องที่ที่ประเมินเพิ่มเติม   เว้นแต่กรณีที่ เจ้าของที่ดินได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการที่ดินให้ถูกต้องก่อนที่เจ้าพนักงานประเมินแจ้งการประเมิน

1.5.3  ชี้เขตแจ้งจำนวนที่ดินไม่ถูกต้องต่อเจ้าพนักงานสำรวจ โดยทำให้จำนวนเงินที่จะต้องเสีย   ภาษีบำรุงท้องที่ลดน้อยลงให้เสียภาษีเงินเพิ่มอีก 1 เท่า ของภาษีบำรุงท้องที่ประเมินเพิ่มเติม

1.5.4  ไม่ชำระภาษีบำรุงท้องที่ภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละ 24 ต่อปี  หรือ ร้อยละ 2  ต่อเดือน ของจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีบำรุงท้องที่เศษของเดือนให้นับเป็นหนึ่งเดือน และไม่นำเงินเพิ่มเติมตาม  ข้อ 1 – ข้อ 4 มารวมคำนวณด้วย

1.6  บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติภาษีบำรุงท้องที่

1.6.1  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ ให้ถ้อยคำเท็จ ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จ หรือนำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีบำรุงท้องที่  ต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือ ปรับไม่เกิน 2,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

1.6.2  ผู้ใดจงใจไม่มาหรือยอมชี้เขต หรือไม่ยอมแจ้งจำนวนเนื้อที่ดิน ต้องระวางโทษจำคุก  ไม่เกิน 1เดือน  หรือ ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

1.6.3  ผู้ใดฝ่าฝืนคำสั่งของเจ้าพนักงานซึ่งสั่งให้มาให้ถ้อยคำหรือส่งบัญชีหรือเอกสาร  มาตรวจสอบ หรือสั่งให้ปฏิบัติการเท่าที่จำเป็นเพื่อประโยชน์ในการเร่งรัดภาษีบำรุงท้องที่ค้างชำระหรือไม่มาให้ถ้อยคำ หรือไม่ส่งเอกสารอันควรแก่เรื่องมาแสดงตามหนังสือเรียก  ต้องระวางโทษ   จำคุกไม่เกิน 1  เดือน   หรือ      ปรับไม่เกิน 1,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

 

1.7  การอุทธรณ์

          1.7.1  ถ้าเจ้าของที่ดินไม่เห็นพ้องด้วยกับราคาปานกลางที่ดิน หรือไม่ได้รับแจ้งการประเมินภาษีบำรุงท้องที่แล้ว เห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องมีสิทธิอุทธรณ์ต่อผู้ว่าราชการจังหวัดได้ โดยอุทธรณ์ผ่านเจ้าพนักงานประเมินภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ประกาศราคาปานกลางของที่ดิน  หรือ วันที่ได้รับแจ้งประเมินแล้วแต่กรณี

          1.7.2 การอุทธรณ์ไม่เป็นการทุเลาการเสียภาษีบำรุงท้องที่ เว้นแต่จะได้รับอนุมัติจากผู้ว่าราชการจังหวัดให้ขอคำวินิจฉัยอุทธรณ์หรือคำพิพากษาของศาล

          1.7.3 ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้ว่าราชการจังหวัดต่อศาลภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งวินิจฉัยอุทธรณ์

1.8  การขอคืนภาษีบำรุงท้องที่

          ผู้เสียภาษีบำรุงท้องที่โดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียหรือเสียเกินกว่าที่ควรจะต้องเสียผู้นั้น  มีสิทธิขอรับคืนภายใน 1 ปี ได้โดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีบำรุงท้องที่

ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

กำหนดระยะเวลาในการยื่นแบบชำระภาษี เดือน มกราคม–กุมภาพันธ์ ของทุกปี

                   ภาษีโรงเรือนและที่ดิน หมายถึง ภาษีที่จัดเก็บจากโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างอื่นๆ           กับที่ดินใช้ต่อเนื่องกับโรงเรือน หรือสิ่งปลูกสร้างนั้น

2.1  ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          ผู้ที่เป็นเจ้าของทรัพย์สินโรงเรือนสิ่งปลูกสร้าง ตึก อาคาร หรือสิ่งปลูกสร้างอื่น ฯลฯ ในเขตปกครองของเทศบาลตำบลบ้านลาด ซึ่งหาผลประโยชน์ โดยใช้เป็นสถานประกอบการพาณิชย์ต่างๆ ให้เช่าหรือให้ผู้อื่นอยู่อาศัย  หรือแสวงหารายได้  ซึ่งอยู่ในข่ายต้องชำระภาษีโรงเรือนและที่ดินกับเทศบาลตำบลบ้านลาด

2.2  กำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          เจ้าของทรัพย์สินยื่นแบบแสดงรายการเพื่อเสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2)  ณ  งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

2.3  หลักฐานที่ต้องนำไปแสดง

2.3.1  สำเนาโฉนดที่ดิน /น.ส.3 / น.ส.3.ก /ส.ค.1 หรือเอกสารสิทธิ์อื่นๆ

2.3.2  บัตรประจำตัวประชาชนของผู้มีหน้าที่เสียภาษี

2.3.3  สำเนาทะเบียนบ้าน

2.3.4  ทะเบียนการค้า, ทะเบียนพาณิชย์, ใบอนุญาตก่อสร้างอาคาร

2.3.5  ใบเสร็จรับเงินของปีที่ล่วงมาแล้ว

2.3.6  หนังสือมอบอำนาจกรณีให้ผู้อื่นทำการแทน

2.3.7  แผนที่ตั้งของโรงเรือนและที่ดิน หรือสิ่งปลูกสร้างที่เสียภาษี

 

2.4  ขั้นตอนการชำระภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          2.4.1  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน ต้องยื่นแบบแสดงรายการทรัพย์สินเพื่อเสียภาษี โรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2) พร้อมด้วยหลักฐาน  ณ งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด  ภายในเดือนกุมภาพันธ์ของทุกปี

          2.4.2  พนักงานเจ้าหน้าที่จะทำการตรวจสอบความสมบูรณ์ถูกต้องของแบบแสดงรายการภาษีโรงเรือนและที่ดิน (ภรด.2)

          2.4.3  เจ้าหน้าที่ประเมิน ประเมินค่ารายปีและค่าภาษีที่ต้องเสีย

          2.4.4  พนักงานเก็บภาษีแจ้งการประเมิน (ภรด.8) ให้ผู้ที่มีหน้าที่เสียภาษีทราบว่าจะต้องเสียภาษีเป็นจำนวนเงินเท่าใด

          2.4.5  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีเมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้วจะต้องนำเงินค่าภาษีไปชำระ ภายใน 30 วัน นับถัดจากวันที่ได้รับแจ้งการประเมิน มิฉะนั้นต้องเสียเงินเพิ่ม

2.5  อัตราค่าภาษีโรงเรือนและที่ดิน

2.5.1  ผู้รับประเมินชำระภาษีปีละครั้งตามค่ารายปี

2.5.2  อัตราร้อยละ 12.5 ของค่ารายปี

2.6  เงินเพิ่มภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          ผู้มีหน้าที่เสียภาษีโรงเรือนและที่ดิน เมื่อได้รับแจ้งการประเมินแล้ว (ภ.ร.ด.8) จะต้องนำเงินค่าภาษีไปชำระภายใน 30 วัน นับแต่วันถัดจากที่ได้รับแจ้งประเมิน หากผู้มีหน้าที่เสียภาษีนำเงินมาชำระเกินกว่า 30 วัน จะต้องเสียเงินเพิ่ม ดังนี้

2.7  การชำระค่าปรับ

          ผู้ใดไม่ยื่นแบบแสดงรายการชำระภาษีต่อเจ้าหน้าที่ภายในกำหนดต้องระวางโทษ          ปรับไม่เกิน 200 บาท

2.8 บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติภาษีโรงเรือนและที่ดิน

2.8.1  ผู้ใดละเลยไม่แสดงข้อความในแบบพิมพ์เพื่อแจ้งรายการทรัพย์สินตามความเป็นจริงตาม ความรู้เห็นของตนให้ครบถ้วน และรับรองความถูกต้องของข้อความดังกล่าว พร้อมทั้ง ลงวันที่ เดือน ปี และลายมือชื่อของตนกำกับไว้ เว้นแต่จะมีเหตุสุดวิสัย ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 200 บาท (สองร้อยบาทถ้วน)

2.8.2  ผู้ใดละเลยไม่ปฏิบัติตามหมายเรียกของพนักงานเจ้าหน้าที่ ไม่แจ้งรายการเพิ่มเติมรายละเอียด ไม่นำพยานหลักฐานมาแสดงหรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถาม หรือไม่ตอบคำถามเมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ซักถามผู้รับประเมินในเรื่องใบแจ้งรายการ ต้องระวางโทษปรับไม่เกิน 500 บาท (ห้าร้อยบาทถ้วน)

2.8.3  ผู้ใดยื่นข้อความเท็จ หรือให้ถ้อยคำเท็จ หรือตอบคำถามด้วยคำอันเป็นเท็จ หรือ นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดง  เพื่อหลีกเลี่ยงหรือจัดหาทางให้ผู้อื่นหลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตนตามที่ควรหรือโดยความเป็นเท็จ โดยเจตนาละเลย โดยฉ้อโกงโดยอุบาย โดยวิธีการ  อย่างหนึ่งอย่างใดทั้งสิ้นที่หลีกเลี่ยงการคำนวณค่ารายปีแห่งทรัพย์สินของตนตามที่ควรก็ดีต้องระวางโทษจำคุก ไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับไม่เกิน 500 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

2.9  การอุทธรณ์ภาษีโรงเรือนและที่ดิน

          เมื่อผู้เสียภาษีได้รับแจ้งการประเมินแล้ว  ไม่พอใจในการประเมินภาษีของพนักงานเจ้าหน้าที่โดยเห็นว่าค่าภาษีสูงเกินไป หรือประเมินไม่ถูกต้อง ก็มีสิทธิอุทธรณ์ต่อ คณะผู้บริหารท้องถิ่นตามแบบที่กำหนด (ภรด.9) ภายใน 15 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งการประเมิน  และเมื่อได้รับแจ้งผลชี้ขาดแล้วยังไม่เป็นที่พอใจก็มีสิทธิฟ้องร้องต่อศาลได้ภายใน 30 วัน นับแต่วันที่ได้รับแจ้งความให้ทราบคำชี้ขาด

 

ภาษีป้าย

กำหนดระยะเวลาในการยื่นแบบชำระภาษีป้าย เดือนมกราคม – มีนาคม ของทุกปี

                   ภาษีป้าย  หมายถึง  ป้ายที่แสดงชื่อยี่ห้อ  หรือเครื่องหมายที่ใช้ในการประกอบการค้า   หรือ ประกอบกิจการอื่นเพื่อหารายได้  หรือโฆษณาการค้า หรือกิจการอื่น เพื่อหารายได้ไม่ว่าจะแสดง หรือ  โฆษณาไว้ที่วัตถุใดๆ ด้วยอักษร ภาพ หรือเครื่องหมายที่เขียน แกะสลัก จารึก หรือทำให้ปรากฏด้วยวิธีอื่น

3.1  ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้าย

          3.1.1  เจ้าของป้าย

3.1.2  ในกรณีที่ไม่มีผู้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย  หรือ  เมื่อพนักงานเจ้าหน้าที่ไม่อาจหาตัวเจ้าของป้ายนั้นได้ให้ถือว่าผู้ครอบครองป้ายนั้นเป็นผู้เสียภาษีป้ายถ้าไม่อาจหาตัว ผู้ครอบครองป้ายนั้นได้ให้ถือว่าเจ้าของหรือผู้ครอบครองอาคารหรือที่ดินที่ป้าย

3.2  กำหนดระยะเวลายื่นแบบแสดงรายการเพื่อชำระภาษีป้าย

          3.2.1  ให้เจ้าของหรือผู้ครอบครองป้าย ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายได้ที่  ณ งานจัดเก็บรายได้ กองคลัง เทศบาลตำบลบ้านลาด ภายในเดือนมกราคม -  มีนาคม ของทุกปี

          3.2.2  ผู้ใดติดตั้งป้ายอันต้องเสียภาษีหลังเดือนมีนาคมหรือติดตั้งป้ายใหม่แทนป้ายเดิม หรือเปลี่ยนแปลงแก้ไขพื้นที่ป้าย ข้อความ ภาพ อันเป็นเหตุให้ต้องเสียภาษีเพิ่มขึ้นให้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายใหม่ภายใน 15 วัน นับตั้งแต่วันที่ติดตั้งหรือเปลี่ยนแปลงแก้ไข

          3.2.3  ในกรณีที่มีการโอนย้าย (เปลี่ยนเจ้าของ)  ให้ผู้รับโอนแจ้งการรับโอนเป็นหนังสือต่อเจ้าหน้าที่ของเทศบาลตำบลบ้านลาด  ภายใน 30 วัน นับตั้งแต่วันรับโอน

3.3  หลักฐานที่ต้องนำไปแสดงเพื่อเสียภาษีป้าย

          3.3.1  บัตรประจำตัวประชาชน

          3.3.2  ทะเบียนการค้า,ทะเบียนพาณิชย์

          3.3.3  ใบเสร็จรับเงินปีที่ผ่านมา  (ในกรณีที่ได้ชำระภาษีป้ายมาแล้ว)

          3.3.4  สำเนาทะเบียนบ้าน

          3.3.5  ทะเบียนภาษีมูลค่าเพิ่ม

          3.3.6  หนังสือรับรองห้างหุ้นส่วนบริษัท

          3.3.7  ใบอนุญาตติดตั้งป้ายหรือใบเสร็จรับเงินจากร้านทำป้าย

3.4  ขั้นตอนการชำระภาษีป้าย

          3.4.1  ผู้มีหน้าที่ต้องเสียภาษีป้ายยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้าย (ภป.1) พร้อมหลักฐาน

3.4.2  ผู้เสียภาษีต้องมาชำระเงินค่าภาษีป้ายภายใน 15 วัน นับแต่วันได้แจ้งการประเมินมิฉะนั้นต้องเสียเงินเพิ่ม

3.5  อัตราภาษีป้าย

          3.5.1  ป้ายอักษรไทยล้วน  ให้คิดอัตรา 3 บาท : 500  ตารางเซนติเมตร

3.5.2  ป้ายอักษรไทยปนกับอักษรต่างประเทศ หรือปนกับภาพ หรือเครื่องหมายอื่น ให้คิด                            อัตรา  20 บาท : 500 ตารางเซนติเมตร

3.5.3  ป้ายต่อไปนี้ให้คิดอัตรา 40 บาท: 500 ตารางเซนติเมตร

                   3.5.3.1  ป้ายที่ไม่มีอักษรไทย ไม่ว่าจะมีภาพเครื่องหมายใดๆ หรือไม่

                   3.5.3.2 ป้ายที่มีอักษรไทยบางส่วน หรือทั้งหมดอยู่ใต้หรือต่ำกว่าอักษรต่างประเทศ

3.5.4  ป้ายตาม ข้อ 1,2,3 เมื่อคำนวณพื้นที่ของป้ายแล้วถ้ามีอัตราที่ต้องเสียภาษีต่ำกว่าป้ายละ 200 บาท ให้เสียภาษีป้ายละ 200 บาท

  1. กรณีป้ายที่ติดตั้งปีแรก คิดภาษีเป็นรายงวด งวดละ 3 เดือน

                    -  งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน   มกราคม    -  มีนาคม   คิดภาษี   100 %

                   -  งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน   เมษายน    -  มิถุนายน  คิดภาษี   75 %

                   -  งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน   กรกฎาคม  -  กันยายน  คิดภาษี   50 %

                   -  งวดที่ 1 เริ่มตั้งแต่เดือน   ตุลาคม      -  ธันวาคม   คิดภาษี   25 %

3.6  เงินเพิ่ม ผู้มีหน้าที่เสียภาษีป้ายจะต้องเสียเงินเพิ่มในกรณีและอัตราดังต่อไปนี้

3.6.1  ไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนดให้เสียเงินเพิ่ม ร้อยละสิบของค่าภาษีป้ายเว้นแต่กรณีเจ้าของป้ายได้ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายก่อนที่ พนักงานเจ้าหน้าที่ จะได้แจ้งให้ทราบ            ถึงการละเว้นนั้น ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละห้าของค่าภาษี

  1. ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายโดยไม่ถูกต้องต้องตามจำนวนเงินที่ต้องเสียภาษีป้าย         ลดน้อยลงให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสิบของค่าภาษีป้ายที่ประเมินเพิ่มเติม เว้นแต่กรณีเจ้าของป้ายได้มาขอแก้ไขแบบแสดงรายการภาษีป้ายให้ถูกต้องก่อนพนักงานเจ้าหน้าที่แจ้งการประเมิน
  2. ไม่ชำระภาษีป้ายภายในเวลาที่กำหนด ให้เสียเงินเพิ่มร้อยละสองต่อเดือนของค่าภาษีป้ายเศษของเดือนนับเป็นหนึ่งเดือนทั้งนี้ไม่ให้นำเงินเพิ่มตามข้อ 1 และ ข้อ 2 มาคำนวณเป็นเงินเพิ่มตามข้อนี้ด้วย

3.7  บทกำหนดโทษตามพระราชบัญญัติภาษีป้าย

3.7.1  ผู้ใดแจ้งข้อความอันเป็นเท็จ  ให้ถ้อยคำเท็จ  ตอบคำถามด้วยถ้อยคำอันเป็นเท็จหรือ         นำพยานหลักฐานเท็จมาแสดงเพื่อหลีกเลี่ยงหรือพยายามหลีกเลี่ยงการเสียภาษีป้าย ต้องระวางโทษจำคุก    ไม่เกิน 1 ปี หรือ ปรับตั้งแต่ 5,000 บาท ถึง 50,000 บาท หรือทั้งจำทั้งปรับ

  1. ผู้ใดจงใจไม่ยื่นแบบแสดงรายการภาษีป้ายต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 5,000 บาท            ถึง 50,000 บาท
  2. ผู้ใดไม่แจ้งการรับโอนป้ายหรือไม่แสดงรายการเสียภาษีป้ายไว้ ณ ที่เปิดเผยในสถานที่ประกอบกิจการ ต้องระวางโทษปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 10,000 บาท

          3.7.4  ผู้ใดขัดขวางการปฏิบัติงานของพนักงานเจ้าหน้าที่หรือไม่ปฏิบัติตามคำสั่งของพนักงาน-เจ้าหน้าที่ซึ่งสั่งให้มาให้ถ้อยคำหรือให้ส่วนบัญชีหรือเอกสารเกี่ยวกับป้ายมาตรวจสอบภายในกำหนดเวลา    อันสมควรต้องระวางโทษจำคุกไม่เกิน 6 เดือน หรือปรับตั้งแต่ 1,000 บาท ถึง 20,000 บาท หรือ ทั้งจำทั้งปรับ

3.8  การอุทธรณ์การประเมินภาษีป้าย

                   เมื่อผู้เสียภาษีได้แจ้งการประเมิน (ภป.3) แล้วเห็นว่าการประเมินนั้นไม่ถูกต้องมีสิทธิอุทธรณ์การประเมินต่อผู้บริหารท้องถิ่น หรือผู้ได้รับมอบหมาย โดยต้องยื่นอุทธรณ์ภายใน 30 วัน นับแต่ที่ได้รับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์ ผู้อุทธรณ์มีสิทธิอุทธรณ์คำวินิจฉัยของผู้บริหารท้องถิ่นต่อศาลภายใน 30 วันนับแต่วันรับแจ้งคำวินิจฉัยอุทธรณ์

3.9  การขอคืนเงินภาษีป้าย

                   ผู้เสียภาษีป้ายโดยไม่มีหน้าที่ต้องเสียภาษีหรือเสียเกินกว่าที่ควรจะต้องเสีย ผู้นั้นมีสิทธิ  ขอรับเงินคืนได้โดยยื่นคำร้องขอคืนภายใน 1 ปี นับแต่วันที่เสียภาษีป้าย

 

ข้อมูลไฟล์ที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!
ข้อมูลรูปที่เกี่ยวข้อง
ไม่มีข้อมูล!!